วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555


วิธีการทำบอนไทร









ดินปลูก ใช้ดินท้องร่องสวนผสมใบทองหลางตากแห้ง หรือใช้ดินสวนผสมปุ๋ยคอก โดยทั่วไปแล้วโมกขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิดที่มีอินทรีย์วัตถุ


การเปลี่ยนดิน โมกเป็นต้นไม้ที่แตกรากได้ง่ายและแตกรากได้เร็วถ้าอาหารในดินสมบูรณ์ ต้นโมกเป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำมาก ควรจะกระทำการเปลี่ยนดินให้ปีละหนึ่งครั้งหลังจากหมดฤดูหนาวแล้ว ถึงแม้ว่าโมกจะเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงง่ายก็จริงอยู่ แต่ใบจะแสดงอาการซีดเหลืองเมื่อขาดอาหารในดิน ดินเป็นกรดด่างมากเกินไป หรือเมื่อรากแน่นกระถางจนเกินไป จากสาเหตูเหล่านี้ก็สมควรที่จะทำการเปลี่ยนดินให้ต้นโมกได้แล้ว




เมื่อจะทำการเปลี่ยนดินหรือปลูกลงในกระถางบอนไซ ในกรณีที่เป็นตุ้มดิน (จากการขุดมาจากตามริมคลองชายน้ำ) ที่ขุดมาใหม่ๆ ควรปลูกในกระถางดินที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้ระบบรากสมบูรณ์เสียก่อน แล้วจึงทำการปลูกลงในกระถางบอนไซในภายหลัง
ในขณะที่โมกมีใบแก่จัดจึงจะเหมาะแก่การเปลี่ยนดิน เด็ดใบออกให้หมดเพื่อป้องกันการระเหยน้ำในภายหลัง นำดินออกจากกระถาง เขี่ยดินออกอย่างระมัดระวังให้หมด จะใช้วิธีฉีดน้ำล้างดินออกก็ได้ เมื่อดินออกหมดแล้ว ตัดรากที่ยาววิ่งวนในกระถาง หรือรากที่แก่มากมีการแตกรากฝอยที่มีจำนวนน้อยออก ไม่ควรทำการซอยรากออกทั้งหมด เพราะจะทำให้รากฝอยถูกตัดปลายรากไม่สามารถดูดน้ำเลี้ยงขึ้นสู่ลำต้นได้เพียงพอ (วิธีการตัดรากมีรายละเอียดในเรื่องระบบรากในหนังสือบอนไซ 02)


ถ้าตัดรากที่ยาวออกทุกครั้งที่ทำการเปลี่ยนดินแล้วต้นโมกจะมีแต่รากฝอยแตกจากโคนรากมากทำให้ต้นไม้มีระบบรากที่สมบูรณ์
เมื่อตัดแต่งรากเรียบร้อยแล้ว ใส่กรวดขนาดเล็กรองก้นกระถาง ใส่ดินปลูกลงไปประมาณครึ่งกระถาง วางต้นโมกลงในกระถางแล้วกลบดิน แต่งผิวดินให้เรียบร้อย รดน้ำด้วยฝักบัวให้ชุ่ม แล้วนำต้นไม้พักไว้ในที่ร่มรำไรประมาณ 7 วัน แล้วนำออกเลี้ยงในที่ๆมีแสงแดดประมาณ 50 %
การให้ปุ๋ย โมกเป็นต้นไม้ที่ชอบปุ๋ยมากควรให้ปุ๋ยเดือนละหนึ่งครั้ง ใช้ปุ๋ยเคมีผสมตามฉลาก หรือจะใช้ปุ๋ยคอกหมักราดที่โคนต้น
การดูแลทั่วไป ถึงแม้ว่าต้นโมกจะมีการแตกรากเร็วก็จริงอยู่ แต่รากโตช้า ลำต้นและกิ่งก้านก็โตช้าตามไปด้วย ในการตัดแต่งกิ่งหรือหรือแต่งแผลนั้น โมกเป็นต้นไม้ที่สร้างเปลือกหุ้มแผลได้เร็วพอสมควร เมื่อหุ้มแล้วก็ให้ความสวยงาม 

ในอาการใบโมกซีดเหลืองจนแทบจะกลายเป็นต้นไม้เผือกนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงว่าขาดอาหารในดินแล้ว อาจจะเกี่ยวกับระบบรากที่ไม่สมบูรณ์ได้ด้วย เช่น ต้นโมกที่มีโคนใหญ่แต่รากน้อยแล้วรีบปลูกลงในกระถางที่มีขนาดเล็กนั้น กว่าต้นโมกจะสร้างรากให้สมดุลย์กับต้นได้จะต้องใช้เวลามาก ที่ควรแล้วจะต้องปลูกลงในกระถางพักฟื้นที่มีขนาดใหญ่ไว้หลายๆปี ในขณะเดียวกันก็ทำการตัดแต่งรูปทรงไปด้วยก็ไม่เสียเวลามาก คอยเปลี่ยนดินให้ทุกปี ตัดรากที่ยาวมากออก เมื่อรากสมบูรณ์ดีแล้วใบก็จะไม่เผือกให้เห็นอีก
เมื่อต้นโมกในกระถางมีดินแห้งมาก อาจจะช่วยด้วยการตั้งกระถางบอนไซลงในจานรองกระถาง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดินให้มากขึ้น
การรดน้ำ รดด้วยบัวรดน้ำปกติวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น หรืออาจจะเพิ่มบ่อยครั้งขึ้นในวันที่มีอากาศแห้งมากถ้ามีโอกาส
โรคและแมลงรบกวนน้อยมาก แต่ควรรดยาป้องกันตามปกติเดือนละหนึ่งครั้ง
ถ้าหากต้นโมกได้รับการปลูกเลี้ยงอย่างดีแล้ว  โมกจะเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ และเมื่อได้รับการตัดแต่งกิ่งก้านอยู่เสมอแล้วต้นโมกจะให้ดอกอย่างสม่ำเสมอ และจะให้รายละเอียดของกิ่งก้านได้หนาแน่นสวยงามมาก รายละเอียดที่เกิดขึ้นนี้เป็นการแสดงถึงอายุความเก่าแก่ไม่แพ้บอนไซของต่างประเทศแต่อย่างใด

หลักของการปลูกเลี้ยงบอนไซ 
สรุปพอสังเขปได้ดังนี้
1. ห้ามทำการเปลี่ยนดิน ขณะที่ต้นไม้กำลังแตกใบอ่อน
2. ไม่ควรเปลี่ยนดิน ขณะที่ดินในกระถางแฉะมาก
3. ไม่ควรเปลี่ยนดินบอนไซในฤดูหนาว ถ้าไม่จำเป็น
4. ไม่ควรเปลี่ยนดินในขณะที่บอนไซถูกโรคและแมลงรบกวนมาก ยกเว้นในกรณีที่โรครบกวนในดิน
5. ควรทำความสะอาดลำต้นและกิ่งก้านของบอนไซอยู่เสมอด้วยแปรงสีฟันที่ไม่ใช้แล้ว
6.ควรรดน้ำด้วยบัวรดน้ำต้นไม้ ไม่ควรฉีดน้ำด้วยสายยาง
7. ควรให้ปุ๋ยและฉีดยาฆ่าแมลงตามกำหนด
8. ดินในกระถางบอนไซควรจะมีการระบายน้ำได้ดี
9. ควรตั้งบอนไซบนชั้น มีอากาศถ่ายเทสะดวกและมีแสงแดดเพียงพอ

การเลี้ยงบอนไซให้มีความสมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงนั้นจะทำให้เกิดความงาม ทำให้ผู้เป็นเจ้าของบังเกิดความสุขทางใจได้มาก คุ้มค่ากับความเหนื่อยยากที่ได้เสียเวลาไป ประสบการณ์ที่ผู้เขียนมาทั้งหมดนี้ได้จากการเลี้ยงบอนไซอยู่ในกรุงเทพฯ สำหรับผ้ปลูกเลี้ยงบอนไซที่อยู่ตามต่างจังหวัดอาจจะมีวิธีแตกต่างออกไป เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกัน
เรื่องการปลูกเลี้ยงบอนไซของไทยนี้ ยังมีพันธุ์ไม้ที่จะกล่าวถึงอีกเป็นจำนวนหลายๆต้น ซึ่งคงจะได้นำมาลงอีกในโอกาสต่อไป